พิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์เรือนไทยประกอบด้วยเรือนไทยเดิมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นจากภาคกลาง แบบเรือนไทยแท้ฝาปะกน เป็นเรือนหมู่ ๓ หลัง มีนอกชานแล่นกลาง เรือนหลังใหญ่มีลักษณะพิเศษโดยมีประตูหน้าต่างโค้งทรงดอกบัวพุ่มและมีลวดลายแกะสลักบนฝาทั้งภายนอกและภายใน ประดับเรือนด้วยเครื่องเรือนปิดทองสำหรับเป็นพุทธบูชา นอกจากนั้นยังมีสัปคับหวายปิดทองใช้สำหรับในขบวนแห่บนหลังช้างที่สำคัญอีกด้วย เรือนหลังกลางประดับด้วยเครื่องเรือนในชีวิตประจำวันของคนไทยสมัยก่อนและมีภาพเขียนแบบจิตรกรรมไทยร่วมแสดงอยู่โดยรอบ เรือนหลังที่สามจัดแสดงเครื่องเบญจรงค์และเครื่องถ้วยสมัยสุโขทัย เรือนหลังที่สี่ปรุงขึ้นตามลักษณะเรือนไทยแท้ทำจากไม้สักทั้งหลังประกอบขึ้นร่วมกับหมู่เรือนไทยเดิม เพื่อจัดแสดงโบราณวัตถุสมัยบ้านเชียง สวนรอบพิพิธภัณฑ์เรือนไทยประดับด้วยโอ่งสมัยสุโขทัยใบใหญ่ แลมียังมีกระถางบัวตรงทางขึ้นเรือนเป็นเครื่องประดับสวนสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่สั่งมาจากมณฑลเซเจียง ประเทศจีน
เครื่องถ้วยเบญจรงค์
เครื่องถ้วยเบญจรงค์เป็นเครื่องถ้วยเขียนลายเขียนสี สั่งมาจากเตาจิงเต๋อเจิ้น มณฑลเซเจียง ประเทศจีน ตั้งแต่สมัยอยุธยาเพื่อใช้ในราชสำนักตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ภาชนะส่วนใหญ่เป็นรูปโถปริกและโถมีฝาขนาดกลาง เขียนเป็นลายกนก ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ และลายเทพพนมนรสิงห์ เป็นต้น
ต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ ๒๓ - ๒๔ จึงมีการสั่งทำเครื่องถ้วยลายน้ำทองเป็นเครื่องถ้วยที่ลงสีพื้นด้วยสีทอง ตั้งแต่สมัยพระเจ้านารายณ์มหาราช จนได้รับความนิยมสูงสุดในสมัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งต่อมามีการนิยมใช้ในหมู่เจ้านายชั้นสูงในราชสำนัก ตลอดจนชนชั้นสูงต่างๆ จนเป็นที่แพร่หลายในหมู่ชนทั่วไป
เครื่องปั้นศรีสัชนาลัยและเครื่องปั้นสุโขทัย
เครื่องปั้นที่มีแหล่งผลิตที่เมืองศรีสัชนาลัยและเมืองสุโขทัยเรียกกันว่าเครื่องสังคโลก โดยเริ่มผลิตตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๙ สมัยที่อาณาจักรสุโขทัยเป็นเมืองหลวง และมีเมืองศรีสัชนาลัยที่ตั้งห่างไป ๗๐ กิโลเมตรเป็นเมืองรอง เครื่องสังคโลกผลิตขึ้นเพื่อการใช้ภายในอาณาจักรและเพื่อการส่งออก มีการค้นพบเตาเผาจำนวนมากกว่า ๓๐๐ เตา เรียงรายกันตามเมืองศรีสัชนาลัยและเมืองสุโขทัย ต่อมาเมื่ออาณาจักรสุโขทัยได้ถูกผนวกเข้ากับอาณาจักรอยุธยา การผลิตยังคงดำเนินต่อเนื่องไปจนกระทั่งสิ้นสุดลงในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒ เครื่องปั้นดินเผาของเตาสุโขทัยเป็นเครื่องเคลือบเนื้อแกร่งผลิตเป็นถ้วย ชาม จาน ครก และกุณโฑ เนื้อดินเป็นสีเทาทาสีขาวรองพื้นแล้วเขียนลวดลายตกแต่งด้วยรูปปลา ลายดอกไม้ พรรณพฤกษา และลายจักร เป็นต้น นอกจากนั้น เตาสุโขทัยยังเป็นแหล่งผลิตเครื่องประดับสถาปัตยกรรมต่างๆ อีกด้วย เครื่องปั้นศรีสัชนาลัย มีสีน้ำตาลเข้มได้รับต้นแบบรูปทรงและวิธีการผลิตจากเครื่องปั้นดินเผาของราชวงศ์หยวน (Yuan dynasty) มีการผลิตเครื่องถ้วยเป็น จาน ชาม พาน กุณโฑ ตลอดจนรูปปั้นตุ๊กตาและสัตว์ทรงเล็กขนาดต่างๆ มีการผลิตเครื่องเคลือบเซลาดน สีฟ้าเขียวที่มีการพัฒนามาจากเครื่องถ้วยจีน ผลิตเป็น จาน ชาม ถ้วย และพานมีขาตั้ง ประดับด้วยลวดลายเส้นขูดขีดและลายเขียนบนเนื้อดินอย่างงดงาม
โบราณวัตถุบ้านเชียง
เรือนโบราณวัตถุบ้านเชียงเก็บรักษาศิลปวัตถุที่มีความสำคัญทางโบราณคดีแสดงถึงความเป็นมาและประเพณีของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ในบริเวณบ้านเชียง ที่มืการตั้งถิ่นฐานอยู่กันอย่างหนาแน่นเมื่อหลายพันปีมาแล้วในทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย วัฒนธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์นี้เริ่มตั้งแต่สมัยยุดสำริดเมื่อประมาณ ๔๐๐๐ ปีมาแล้ว จนถึงยุคโลหะเมื่อประมาณ ๑๔๐๐ ปีมาแล้ว องค์การยูเนสโกจึงได้ประกาศขึ้นทะเบียนแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงแห่งนี้ให้เป็นหนึ่งในเขตมรดกโลก เมื่อปี ๒๕๓๕ เขตวัฒนธรรมบ้านเชียงนี้มีพื้นที่ ๔๙๐๐๐ ตารางกิโลเมตร บนพื้นที่ราบสูงของภาคตะวันออกเฉียงเหนือในประเทศไทย การขุดพบทางโบราณคดีครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ ได้ขุดพบโครงกระดูกมนุษย์จำนวนหนึ่ง มึชิ้นส่วนหม้อเขียนสี กำไล สำริด โลหะ ลูกปัด และเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป หลังจากนั้นจึงได้ทำการขุดค้นทางโบราณคดีอย่างต่อเนื่อง จนได้มีการค้นพบสถานที่ฝังศพทั้งหมด ๑๒๓ แห่ง ทำให้ได้มีการเรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์ของชุมชนชาวบ้านเชียงซึ่งทำการเกษตรกรรม มีเทคนิคการหลอมโลหะ มีประเพณีการฝังศพที่นิยมฝังสิ่งของอุทิศร่วมกับศพ เช่นภาชนะดินเผาและเครื่องประดับต่างๆ มีความรู้ความสามารถที่ดำรงชีวิตและสร้างสังคมที่มีศิลปะและวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่องจนมาถึงทุกวันนี้
เครื่องปั้นดินเผาของวัฒนธรรมบ้านเชียง
จากการขุดค้นทางโบราณคดีของกรมศิลปากรได้มีการค้นพบเครื่องปั้นดินเผาที่มีความหลากหลายทางลักษณะรูปทรงและลวดลายที่ใช้ประดับภาชนะ หม้อดินเผาพื้นสีนวลวาดด้วยลวดลายเลขาคณิตหรือที่เรียกว่า “หม้อบ้านเชียง” ถูกผลิตขึ้นด้วยความประณีต มีการขุดพบหม้อสีดำของวัฒนธรรมบ้านเชียงสมัยต้น ซึ่งการตกแต่งด้วยลวดลายขูดขีดและลายเชือกทาบ นอกจากนั้นยังได้มีการค้นพบหม้อดินขนาดใหญ่ไว้สำหรับพิธีฝังศพเด็กในวัฒนธรรมบ้านเชียงสมัยต้นอีกด้วย